ช่วงระยะการเจริญเติบโตของพืชในช่วงนี้ : พัฒนาผล

ลักษณะอาการที่พบ : ตัวอ่อนและตัวเต็มวัย ใช้ปากเขี่ยเนื้อเยื่อ และดูดน้ำเลี้ยงจากเซลล์พืชบริเวณใบอ่อน ยอดอ่อน ตุ่มตาใบ ตุ่มตาดอก ช่อดอกมะม่วง โดยเฉพาะฐานรองดอก และขั้วผลอ่อน ทำให้เซลล์บริเวณนั้นถูกทำลาย กรณีที่ระบาดไม่รุนแรงจะปรากฏแผลชัดเจนเป็นวงใกล้ขั้วผลมีสีเทาเงินเกือบดำ หรือผลบิดเบี้ยว ถ้าทำลายรุนแรงผิวของผลมะม่วงจะเป็นสีดำเกือบทั้งหมดทำให้ผลผลิตมีราคาต่ำลง การทำลายในระยะติดดอกจะทำให้ช่อดอกหงิกงอ ดอกร่วงไม่ติดผลหรือทำให้ติดผลน้อย ส่วนอาการที่ปรากฏบนยอดอ่อนจะทำให้ใบที่แตกใหม่ แคระแกร็น ขอบใบและปลายใบไหม้ ใบอาจร่วงตั้งแต่ยังเล็ก ๆ สำหรับใบที่ขนาดโตแล้ว เพลี้ยไฟพริกมักลงทำลายตามขอบใบทำให้ใบม้วนงอ และปลายใบไหม้ ถ้าเป็นการทำลายที่ยอดจะรุนแรง ทำให้ยอดแห้งไม่แทงช่อใบ หรือช่อดอก การทำลายที่ตา ช่อดอกบิดเบี้ยว หงิกงอ หรือติดผลน้อย ผลเล็ก ๆ ที่ถูกเพลี้ยไฟพริกทำลายอาจร่วงหล่นได้

แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. ถ้าพบไม่มากให้ตัดส่วนที่แมลงระบาดนำไปทำลายนอกแปลงปลูก เพราะเพลี้ยไฟพริกมักอยู่กันเป็นกลุ่มบริเวณส่วนยอดอ่อนของพืช

2. การพ่นสารฆ่าแมลง ควรพ่นระยะติดดอกอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ ระยะเริ่มแทงช่อดอกและระยะเริ่มติดผลขนาดมะเขือพวง (ประมาณ 0.5 – 1.0 เซนติเมตร) ถ้าหากปีใดพบเพลี้ยไฟพริกระบาดรุนแรงก็จำเป็นต้องพ่นซ้ำในระยะก่อนดอกบาน

3. สารฆ่าแมลงที่แนะนำ เช่น สไปนีโทแรม 12% SC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ คลอร์ฟีนาเพอร์ 10% SC อัตรา 30 มิลลิลิตร ต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะบาเมกติน 1.8% EC อัตรา 50 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นสารแบบหมุนเวียนตามกลุ่มกลไกการออกฤทธิ์ โดยใช้รอบการหมุนเวียนทุก 14 วัน เมื่อพบการระบาด เพื่อชะลอความต้านทานต่อสารฆ่าแมลง

เพลี้ยไฟพริก (ในมะม่วง)

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *