สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) เงาะทองผาภูมิ และ ทุเรียนทองผาภูมิ

Image Not Found

สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication หรือ GI) เป็นเครื่องหมายที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีต้นกำเนิดจากพื้นที่เฉพาะ โดยคุณภาพ, ชื่อเสียง, หรือลักษณะอื่นๆ ของสินค้านั้นๆ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับสภาพแวดล้อมภูมิศาสตร์ รวมถึงวิธีการผลิตและประเพณีที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น

ตราสัญลักษณ์ GI ของไทย ซึ่งจัดทำโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ไม่เพียงแต่เป็นการรับรองคุณภาพของสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นได้รับการยอมรับและมีความน่าเชื่อถือในตลาดโลก นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะและเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น

เงาะทองผาภูมิ

Powered By EmbedPress

“เงาะทองผาภูมิ” Ngoh Thong Pha Phum ได้รับการขึ้นทะเบียน GI (Geographical Indications) จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกระดับผลไม้ไทยสู่มาตรฐานอย่างเต็มภาคภูมิ

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) สินค้าใหม่ในปี 2564 “เงาะทองผาภูมิ” ความภาคภูมิใจของชาวเมืองกาญจน์ ด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่สามารถผลิตได้ในท้องถิ่น ซึ่งจะต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ “เงาะทองผาภูมิ” และเข้าสู่ระบบการคุ้มครอง GI และการปกป้องไม่ให้ถูกละเมิดชื่อสินค้า GI

สำหรับ “เงาะทองผาภูมิ (Ngoh Thong Pha Phum หรือ Thong Pha Phum Rambutan)” ที่ได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทย เป็นเงาะพันธุ์โรงเรียนที่มีชื่อของจังหวัดกาญจนบุรี โดดเด่นอย่างเป็นเอกลักษณ์แตกต่างจากพื้นที่อื่นด้วยลักษณะของผลค่อนข้างกลมเล็ก ขนค่อนข้างสั้น มีสีเขียวตองอ่อนที่เป็นลักษณะเด่นพร้อมเปลือกบางสีเหลืองปนแดง เมล็ดเล็ก เนื้อหนา หวาน ล่อนกรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ นิยมทานผลกึ่งสุก พื้นที่ปลูกหลักอยู่ในอำเภอทองผาภูมิ อำเภอไทรโยค อำเภอสังขละบุรี และอำเภอศรีสวัสดิ์ โดยมีช่วงฤดูกาลการผลิตตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม การได้รับการขึ้นทะเบียน GI ช่วยให้เงาะทองผาภูมิได้รับการยอมรับในระดับสากลและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

“เงาะทองผาภูมิ” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications หรือ GI) ลำดับที่ 157 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2564 และมีผลย้อนหลังไปจนถึงวันที่ 25 กันยายน 2561

ทุเรียนทองผาภูมิ

Powered By EmbedPress

ทุเรียนทองผาภูมิได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ซึ่งเป็นทุเรียนพันธุ์หมอนทองที่ปลูกในพื้นที่แนวเทือกเขาตะนาวศรีของจังหวัดกาญจนบุรี ด้วยสภาพอากาศและดินศิลาแลงที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของทุเรียน ทำให้ทุเรียนทองผาภูมิมีคุณภาพสูง ผลทรงรีสวย เปลือกบาง รสชาติหวานมัน เนื้อหนาสีครีมเหลือง ผิวมันวาว เส้นใยน้อยและไม่มีกลิ่นฉุน เป็นที่นิยมอย่างมากทั้งในหมู่นักท่องเที่ยวและชาวต่างขาติ ทุเรียนทองผาภูมิได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ลำดับที่ 209 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 และมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2565