
สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศเย็นในตอนเช้า มีฝนตกเล็กน้อยบางพื้นที่ เตือนผู้ปลูกมะม่วง ในระยะแทงช่อดอก –
พัฒนาผล รับมือเพลี้ยจักจั่นมะม่วง ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยทำลายใบอ่อน ช่อดอก ก้านดอก และยอดอ่อน ระยะที่ทำความเสียหายให้มากที่สุด คือ ระยะที่มะม่วงกำลังออกดอกโดยดูดน้ำเลี้ยงจากช่อดอก ทำให้แห้งและดอกร่วง ติดผลน้อย หรือไม่ติดเลย ระหว่างที่เพลี้ยจักจั่นมะม่วงดูดกินน้ำเลี้ยงจะถ่ายมูลมีลักษณะเป็นน้ำหวานเหนียว ๆ ติดตามใบ ช่อดอก ผล และรอบ ๆ ทรงพุ่ม ทำให้ใบมะม่วงเปียก ต่อมาจะเกิดราดำปกคลุม ถ้าเกิดมีราดำปกคลุมมาก มีผลต่อการสังเคราะห์แสง ใบอ่อนที่ถูกดูดน้ำเลี้ยง (โดยเฉพาะระยะใบเพสลาด) จะบิดงอโค้งลงด้านใต้ใบจะมีอาการปลายใบแห้งให้สังเกตได้
แนวทางป้องกัน/แก้ไข
1. การตัดแต่งกิ่งภายหลังเก็บผลผลิต ช่วยลดที่หลบซ่อนของเพลี้ยจักจั่นมะม่วง ทำให้การพ่นสารฆ่าแมลงมีประสิทธิภาพดีขึ้น
2. ถ้าไม่มีการป้องกันกำจัด มะม่วงจะไม่ติดผลเลย จึงควรพ่นด้วยสารฆ่าแมลงฟลูไพราดิฟูโรน 20% SL อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไดโนทีฟูแรน 10% SL อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน 2.5% EC อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อิมิดาโคลพริด 70% WG อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือไพมีโทรซีน 50% WG อัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ บูโพรเฟซิน 40% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ฟลอนิคามิด 50% WG อัตรา 4 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไทอะมีทอกแซม 25% WG อัตรา 2.5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ อะซีทามิพริด 20% SP อัตรา 3 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร พ่นให้ทั่ว เมื่อสำรวจพบเพลี้ยจักจั่นมะม่วงมากกว่า 4 ตัวต่อช่อดอก และพ่นซ้ำตามความจำเป็น
3. การพ่นสารฆ่าแมลงให้มีประสิทธิภาพควรพ่นให้ทั่วถึงลำต้น มิเช่นนั้นตัวเต็มวัยจะเคลื่อนย้ายหลบซ่อนไปยังบริเวณที่พ่นสารฆ่าแมลงไม่ถึง นอกจากนี้ ยังต้องคำนึงถึงการปรับหัวฉีดให้เป็นละอองฝอย และระยะเวลาการพ่น
4. ใช้น้ำฉีดล้างช่อดอกและใบ เพื่อช่วยแก้ปัญหาช่อดอกและใบดำจากโรคราได้บ้าง ถ้าแรงอัดฉีดของน้ำแรงพอก็ช่วยให้เพลี้ยจักจั่นมะม่วงในระยะตัวอ่อนกระเด็นออกจากช่อดอกได้ ต้องระมัดระวังอย่าให้กระแทกดอกมะม่วงแรงเกินไป เพราะอาจทำให้ดอกหรือผลที่เริ่มติดร่วงได้
5. ใช้กับดักแสงไฟ ดักตัวเต็มวัยที่บินมาเล่นไฟ