สภาพอากาศในช่วงนี้ช่วงต้นฤดูหนาวอุณหภูมิต่ำ อาจมีฝนตกบางพื้นที่ มีความชื้นในอากาศสูง เตือนผู้ปลูกหอมแดง, หอมหัวใหญ่, หอมแบ่ง, กระเทียม ในระยะ ต้นกล้า-ลงหัว รับมือโรคใบไหม้ (เชื้อรา Stemphylium vesicarium)

อาการเริ่มแรก พบจุดสีเหลืองอ่อนหรือน้ำตาลอ่อนบนใบ มีลักษณะฉ่ำน้ำ ต่อมาจุดเล็กจะขยายเป็นแผลรูปยาวรี หัวท้ายแหลมสีน้ำตาลอ่อน หรือน้ำตาลอมม่วง เมื่อสภาพแวดล้อมมีความชื้นสูง แผลจะขยายลุกลามอย่างรวดเร็ว เกิดอาการไหม้ตั้งแต่ปลายใบลงมายังรอยแผล หรือไหม้ทั่วทั้งใบ โดยแผลไหม้ในระยะแรกมีสีน้ำตาลอ่อน แล้วเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลอมม่วง จนเป็นสีดำในที่สุด

บางครั้งพบสปอร์ของเชื้อราสาเหตุโรค มีลักษณะเป็นผงสีดำบนแผล ซึ่งโรคนี้มักพบเกิดร่วมกับโรคใบจุดสีม่วง

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

1. ก่อนปลูกควรปรับปรุงดินให้มีสภาพเหมาะสมกับการปลูกหอมและกระเทียม โดยการใส่ปูนขาว ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยอินทรีย์

2. ใช้หัวพันธุ์ที่ปราศจากโรค โดยแช่หัวพันธุ์ หรือต้นกล้าก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดโรคพืช เช่น ไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไอโพรไดโอน 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 30-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร นาน 15-20 นาที

3. ตรวจแปลงสม่ำเสมอ เมื่อพบโรค พ่นด้วยสารไดฟีโนโคนาโซล 25% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไอโพรไดโอน 50 % ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือโพรคลอราซ 50% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 20 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร ชนิดใดชนิดหนึ่ง สลับกับ แมนโคเซบ 80% ดับเบิ้ลยูพี อัตรา 40-50 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร เพื่อป้องกันการดื้อยาของเชื้อสาเหตุโรค โดยพ่นทุก 5-7 วัน

4. เก็บซากพืชที่เป็นโรคไปเผาทำลายนอกแปลงปลูก

5. ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ควรปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่สกุลหอมกระเทียมสลับ

เตือนเกษตรกรผู้ปลูก หอม กระเทียม ระวังโรคใบไหม้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *